7 แอพพลิเคชั่นที่ควรโหลดก่อนไปจีน 2018

Last updated: 24 ส.ค. 2563  |  69272 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่เราทำทุกครั้งคือเตรียมมือถือให้พร้อมติดต่อสื่อสารและโหลดแอพที่เป็นประโยชน์ติดเครื่องไว้ เอนทรีนี้ต้าหัวเลยขอรวมแอพเด็ดมาให้เพื่อน ๆ เลือกโหลดกันก่อนไปเมืองจีน มีแอพอะไรบ้างตามไปดูกันเลย

หมวดติดต่อสื่อสาร

- WeChat | วีแชท (เวยซิ่น) | 微信 
เริ่มกันที่แอพแห่งชาติของพี่จีนอย่าง WeChat ที่ฟังก์ชั่นหลัก ๆ เหมือน LINE แทบทุกอย่าง เรียกว่าต่างกันแค่หน้าตาเท่านั้นเอง ชาวสยามประเทศจึงน่าจะใช้ส่งข้อความ ส่งรูป อัดเสียง โทรคุย แชร์โลเคชั่น หรือวิดีโอคอลล์กันได้คล่องมือ 



อย่างที่รู้กันว่า เว็บและแอพสัญชาติฝรั่งแทบทั้งหมดถูกบล็อคโดยรัฐบาลจีน เราเลยอยากแนะนำให้โหลด WeChat พร้อมแอดคนที่คุณรักกันเหนียวไว้ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจากไทย เพราะถึงจะมีซิมที่ใช้ LINE ในเมืองจีนได้อย่างที่เราแนะนำไปในเอนทรี่นี้ แต่ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างดาต้าหมด วันหมด หรือกดซื้อแพคเกจไม่สำเร็จ อย่างน้อย ๆ ถ้าเจอ Wi-Fi ฟรี เราก็ยังใช้ WeChat ติดต่อกับคนที่ไทยได้นะ

นอกจากนี้ ใครที่นิยมผูกมิตรระหว่างเดินทาง รับรองได้ว่าเพื่อนใหม่ชาวจีนต้องขอแลก WeChat แน่ ๆ ส่วนใครที่ได้ภาษาจีนระดับแอดวานซ์ขึ้นมาอีก บรรดาร้านอาหาร หน่วยงาน หรือสถานที่ท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่งยังมี official account ใน WeChat ด้วยนะ ติดตามข่าวสารหรือลองขอข้อมูลทางนี้ดู

หมวดเดินทาง
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ตั้งใจไปเดินทอดน่องเอง โดยไม่ไปกับทัวร์หรือไม่มีไกด์ประกบ แนะนำให้โหลดสามแอพนี้เอาไว้

- Google Maps | กูเกิลแมปส์


ดีใจที่สุดเมื่อพี่จีนยอมให้ Google Maps เข้าไปมีที่ยืนบนแผ่นดินมังกร เพราะก่อนหน้านี้ ไม่ว่ายังไงก็ต้องพึ่งพาบริการของ Baidu Map แอพพลิเคชั่นแผนที่สัญชาติจีนที่ใช้ภาษาจีนล้วน ๆ 


แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะไปเมืองไหนในจีน เราก็สามารถใช้ Google Maps เพื่อค้นหาสถานที่ ตรวจดูสภาพการจราจร เช็คระยะเวลาการเดินทางและวิธีต่อรถได้ไม่ต่างกับในประเทศอื่น ข้อมูลก็อัพเดทมากทีเดียว (แม้จะไม่เรียลไทม์เท่ารถไฟในโตเกียวที่ละเอียดระดับวินาที) แม้บางครั้งจะมีอักษรจีนโผล่มาให้ระทึกขวัญบ้าง แต่โดยรวมก็ช่วยให้เราไปสู่จุดหมายปลายทางได้สำเร็จ

- แอพแผนที่รถไฟใต้ดิน
รถไฟใต้ดินกำลังกลายมาเป็นขนส่งสาธารณะหลักของชาวจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ใครที่เดินทางไปเมือง tier 2 ขึ้นไป รับรองว่าต้องมีจังหวะได้ใช้บริการแน่นอน ซึ่งรถไฟใต้ดินของเมืองส่วนใหญ่ก็จะมีแอพของตัวเองอยู่ แนะนำให้โหลดมาลองเล่นตั้งแต่ก่อนออกจากรุงเทพฯเลย พอเครื่องแลนด์ปุ๊ปก็เปิดแอพโหนรถไฟใต้ดินเข้าเมืองได้ทันใจ! 

ส่วนตัวเราโปรดปรานแอพในเครือ ExploreMetro ซึ่งในส่วนของจีนแผ่นดินใหญ่ ExploreMetro ก็มีเวอร์ชั่นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา และเซินเจิ้น ซึ่งล้วนแต่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่ที่มีโครงข่ายสถานีถี่ยิบ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมือง ขณะที่ค่าโดยสารสบายกระเป๋าเงินสุด ๆ เฉลี่ย 10–35 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น (ราคาขึ้นอยู่กับแต่ละเมืองด้วย) เก็บส่วนต่างค่าแท็กซี่เอาไปกินเกี๊ยวทอดกับน้ำเต้าหู้ได้อีก


เวลาจะดาวน์โหลดแอพ ให้ใช้คีย์เวิร์ด "Explore + ชื่อเมือง" เช่น Explore Guangzhou หรือ Explore Shanghai ความดีงามอีกอย่างคือแอพจะโชว์ชื่อสถานีทั้งในภาษาอังกฤษและจีน ทำให้พิมพ์หาสถานีได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องตาลายกับชื่อสถานีจำนวนนับไม่ถ้วน

บอกค่าโดยสารด้วย หยิบเหรียญรอล่วงหน้าได้เล้ย

พอใส่ชื่อสถานีต้นทางและปลายทาง แอพก็จะเลือกเส้นทางที่ต่อรถน้อยที่สุดและวิธีเปลี่ยนสถานี พร้อมคำนวณเวลาและค่าโดยสารให้เสร็จสรรพ ที่เราชอบมากคือมีฟังก์ชั่นหาสถานีที่ใกล้ที่สุด (Nearest) ช่วยให้เราไม่ต้องไปยืนเด๋ออยู่กลางเมือง

- Didi Chuxing | ตีตีชูสิง | 滴滴出行  
อธิบายสั้น ๆ Didi คือแอพเรียกรถส่วนบุคคลที่เจ้าของสมัครใจมาขับรับส่งผู้โดยสาร แบบเดียวกับ Uber ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง โดย Uber ในจีนได้ทำการควบรวมกับ Didi ไปแล้วเรียบร้อย Didi จึงเป็นตัวเลือกหลักสำหรับบริการลักษณะนี้ของคนที่ใช้ชีวิตในจีน

ความดีงามอยู่ตรงที่แอพ Didi สามารถปรับเป็นภาษาอังกฤษได้ เราจึงใส่ชื่อสถานที่ต้นทางปลายทางได้สะดวกง่ายดาย แถมยังรองรับบัตรเครดิตสากล เอาใจชาวต่างชาติไปอีก



วิธีใช้ก็ไม่ต่างจาก Uber เริ่มจากใส่สถานที่ต้นทางปลายทาง โดยแอพจะเซ็ตต้นทางไว้เป็น current location แต่สามารถเปลี่ยนได้ และถ้าไปหลายคน ลงหลายที่ ก็มีฟังก์ชั่นแวะส่งหลายจุดด้วย สะดวกไปอีกกก ส่วนด้านล่างของจอจะแสดงค่าโดยสารเบื้องต้นในสกุลหยวน แยกตามบริการที่เราเลือกใช้ดังนี้: 

Express: บริการรถเก๋งไซส์เล็กโดยผู้ขับมือสมัครเล่น เทียบง่าย ๆ ก็ Uber แบบเบสิคนั่นเอง แต่ Express ยังมีฟังก์ชั่น ExpressPool ที่เรายินยอมให้คนขับแวะรับผู้โดยสารอื่นที่ไปทางเดียวกันเพื่อลดค่าโดยสารด้วย ประหยัดตังค์แถมได้เพื่อนใหม่เก๋ ๆ 

Premier: บริการรถเก๋งที่โมเดลใหญ่กว่า Express มีมินิแวน 6 ที่นั่งสำหรับแก๊งที่มีสมาชิกเกิน 4 คนด้วยนะ! นอกจากนี้ Didi ยังเคลมว่าคนขับในระดับ Premier จะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่า และเท่าที่เราใช้บริการมาก็ค่อนข้างประทับใจ เจอคนขับสุภาพ รถสะอาดสะอ้าน มีน้ำดื่มให้บริการพร้อมสรรพ 

Luxe: บริการรถหรูที่เราสามารถเลือกรถรุ่นต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ เช่น Mercedes-Benz E Class  BMW 5 Series หรือ Audi A6L แต่ค่าโดยสารก็จะถีบตัวสูงขึ้นไป 2-5 เท่า   

Taxi: คล้าย Grab Taxi ของบ้านเรา คือ Didi จะไปดีลกับบรรดาพี่แท็กซี่อาชีพเอาไว้ ค่าโดยสารก็ตามมิเตอร์เลย


หลังจากเลือกว่าจะใช้บริการแบบไหน แอพก็จะแสดงไอคอนรถพร้อมระบุว่าอยู่ห่างไปกี่นาที ส่วนใหญ่ตอนกลางวันในตัวเมืองที่มีรถเยอะจะรอไม่เกิน 5 นาที พอกดเรียกรถ แอพก็จะแมทช์คนขับให้เลย โดยพี่คนขับอาจจะติดต่อกับเราผ่านโปรแกรมแชทในแอพ Didi (ที่มีฟีทเจอร์แปลภาษา) หรือโทรมานัดแนะ ตรงนี้อาจจะต้องใช้ภาษาจีนนิดหน่อย

สุดท้าย แอพจะตัดบัตรหลังจากรถส่งเราถึงจุดหมายปลายทาง ค่าโดยสารอาจเพิ่มหรือลดนิดหน่อย ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร สรุปแล้วขั้นตอนเหมือน Uber แทบทุกอย่างจ้ะ

Tahua Tips & Tricks: 
- ผู้ใช้ใหม่ของ Didi อาจได้รับโปรโมชั่นดี ๆ เป็นความฟินระหว่างทริป 
- ในเมืองจีน คำสุภาพที่ใช้เรียกคนขับรถคือ "ชือฝุ (师傅)" ที่แปลว่า "master" เพราะชาวจีนถือว่าการขับรถเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญ จึงต้องให้เกียรติไม่แพ้นายช่างแขนงอื่น ๆ   

หมวดสภาพอากาศ 
- Air Quality: Real Time AQI | แอร์ควอลิตี้  


ใครที่จะเดินทางไปสถานที่แบบเมื้องเมือง ประมาณว่าไม่ใช่อุทยานหรือชนบทขึ้นเขาลงห้วย ขอแนะนำให้โหลดแอพ Air Quality: Real Time AQI ติดเครื่องไว้ใช้เช็คระดับมลพิษแบบเรียลไทม์ด้วย โดยแอพจะเน้นบอกค่า PM 2.5 (ฝุ่นพิษขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน) ที่ยิ่งสูงก็แปลว่ายิ่งมีมลพิษมาก รวมถึงค่าสารต่าง ๆ ในอากาศอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ


โหลดแอพนี้ไว้ จะได้รู้สภาพอากาศล่วงหน้า ใช้ประกอบการเลือกช้อปหน้ากากอนามัยและเตรียมใส่ก่อนออกจากที่พัก หรือช่วยในการวางแผนเที่ยว เช่น วันที่หมอกหนาจัด อาจเปลี่ยนแผนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์หรือชมแกลเลอรีแทน พูดซะน่ากลัว แต่ความจริงสภาพมลพิษในเมืองใหญ่ของจีนก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะรัฐบาลก็ตระหนักถึงปัญหาและพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง ส่วนเวลาเราไปเที่ยว จะเจอมลพิษมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลากับดวงด้วยจ้ะ  


พอโหลดแอพเลือกเมืองแล้ว มือถือแอนดรอยด์จะสามารถลาก widget ของ AQI มาไว้ที่หน้าจอได้ ลากมาหลาย ๆ อันหลาย ๆ เมืองก็ได้นะ ส่วนของ iPhone จะมีไอคอนแบบเรียลไทม์โชว์ที่หน้าจอเลย เป็นห่วงสุขภาพกันสุด ๆ 

หมวดแปลภาษา
แอพที่คนส่วนใหญ่สะดวกน่าจะเป็น Google Translate ที่โหลดมาใช้แบบออฟไลน์ได้ แต่ก็รู้กันเนอะว่ากูเกิลดูจะไม่ถนัดแปลภาษาไทยสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะใช้เป็นภาษาต้นทางหรือปลายทาง ดังนั้น ใครที่ถนัดภาษาอังกฤษ ขอนำเสนอแอพ Pleco ที่เราว่าแปลได้ละเอียดกว่ากูเกิล แล้วก็ใช้งานแบบออฟไลน์ได้ด้วย

- Pleco | พลีโก


แอพสุดคุ้นเคยสำหรับนักเรียนภาษาจีน เป็นได้ทั้งพจนานุกรมจีน-อังกฤษและ อังกฤษ-จีน แม้บางครั้งคำแปลภาษาอังกฤษอาจจะมึนงงไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นแอพช่วยเอาชีวิตรอดได้ในหลาย ๆ สถานการณ์


ในฐานะนักเรียนภาษา ส่วนที่เราชอบมากคือ Pleco ยังแปลสำนวนเฉิงอวี่ (ที่เป็นชุดละ 4 คำ ความหมายล้ำลึก) ให้ด้วย แถมเวลาพิมพ์คีย์เวิร์ดลงไป แอพจะขึ้นลิสต์คำที่ประกอบด้วยคำที่เราค้นหาขึ้นมาให้อีก ปลื้มสุดอะไรสุด

วิธีใช้:

- ฟังก์ชั่นพู่กัน เราสามารถมองดูตัวอักษรแล้วลากเส้นขีดตามทีละเส้นได้เลย ถ้าขีดไม่เบี้ยวจนเกินไป แอพก็จะลิสต์คำที่เข้าข่ายไว้ด้านล่างให้เราเลือกจิ้ม แนะนำว่าเวลาค้น สมมุติว่ามี 3 ตัว ก็เขียนจนครบ 3 ตัวแล้วเสิร์ชพร้อมกันไปเลย จะได้ความหมายที่ถูกต้องมากกว่า 

จะลากตัวเต็มหรือตัวย่อ Pleco ก็พร้อมแปลให้นะจ๊ะ

- ฟังก์ชั่นคีย์บอร์ด ใครที่พอรู้ตัวพินอิน (Pinyin) บ้าง สามารถเข้าไปที่ไอคอนรูปคีย์บอร์ดแล้วพิมพ์เสิร์ชเป็นภาษาอังกฤษได้ แอพจะลิสต์คำมาให้เราเลือกเหมือนกัน


- ส่วนคำแปล แอพจะให้ทั้งความหมาย ชนิดของคำ และตัวอย่างการใช้มาเสร็จสรรพ แถมมีรูปลำโพงจิ๋วให้กดฟังเสียงอ่านที่ถูกต้องด้วย ถ้าเข้าตาจนจริง ๆ อาจใช้เสียงอ่านในลำโพงเป็นตัวช่วยในการสื่อสารกับคนจีนก็ได้นะ ต้องลอง!

หมวดปากท้อง
อันที่จริงพี่จีนเค้ามีเทพเจ้าแห่งแอพรีวิวร้านอาหารชื่อ Dianping (点评 | เตี่ยนผิง) ที่เริ่มจากการเป็นแอพค้นหา รีวิวร้าน และแนะนำเมนูโดยผู้ใช้ แต่ตอนนี้ได้พัฒนาจนสามารถกดสั่งอาหารและชำระเงินในแอพได้ แต่ Dianping ยังไม่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เราเลยขอแนะนำ BON ให้เพื่อน ๆ ลองใช้กันก่อน

- BON App! | บ็อง แอพ!
แอพสีสันสดใสที่ดูน่าจะตั้งชื่อให้ล้อกับวลี Bon Appétit ที่แปลว่า "กินข้าวให้อร่อยนะ" ในภาษาฝรั่งเศส เพราะ BON เป็นแอพรีวิวร้านอาหารสุดเก๋ที่ช่วยเหลือปากท้องชาวต่างชาติมานักต่อนัก


วิธีใช้ก็เหมือนแอพร้านอาหารส่วนใหญ่ คือเลือกพิกัดบริเวณร้าน โดยมีฟิลเตอร์ต่าง ๆ ให้ปรับตามที่เราต้องการ จากนั้นแอพก็จะลิสต์ร้านในละแวกนั้นพร้อมรายละเอียดมาให้ เช่น ประเภทของร้าน ที่ตั้ง ราคา และคะแนนโหวตโดยผู้ใช้ แต่เท่าที่ลองไล่ดู คะแนนโหวตร้านส่วนใหญ่จะเป็นศูนย์ซะเยอะ เหมือนยังมีผู้ใช้เข้ามาโหวตให้ไม่เยอะพอ ตรงนี้ข้อมูลก็อาจจะยังไม่แน่นอนเท่า Dianping ที่ชาวจีนเข้าไปให้คะแนนกันถล่มทลาย 


อย่างไรก็ดี ถึงข้อมูลจะไม่ค่อยครบหรือร้านอาจไม่ค่อย local แต่ดีไซน์ของ BON นั้นเก๋ไก๋เกินห้ามใจ แถมยังมีฟิลเตอร์สำหรับหาร้านสำหรับมื้อบรันช์หรือร้านแนววีแกนด้วย ความเก๋อีกอย่างคือมีฟีทเจอร์ Meet สำหรับใช้สร้างอีเว้นต์ นัดกันไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนใหม่ ดูค่อนข้างเป็นแนวทางของชาว expat ทำให้เรารู้ว่า BON คงไม่เน้นเจาะตลาดผู้ใช้จีนแผ่นดินใหญ่เท่าไหร่ 


ตอนนี้ BON ค่อย ๆ พัฒนาจนมีร้านให้เลือกหลายเมืองในจีน และยังขยายมาถึงกรุงเทพฯ สิงคโปร์ ไทเป และโตเกียวด้วย ถ้ามีคนใช้เยอะ ๆ คะแนนโหวตก็น่าจะเชื่อถือได้มากขึ้น ตอนนี้ก็ใช้หาร้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงไปก่อนเนอะ

ใครที่มีแพลนจะไปจีน ไม่ว่าจะสายทัวร์ สายแบ็คแพ็ค หรือสายลูกผสม ลองดูนะว่าแพลนตัวเองต้องใช้แอพไหนบ้าง หรือจะโหลดเผื่อไว้ก็ไม่เสียหาย เตรียมมือถือให้พร้อม ไปจีนคราวนี้ชีวิตต้องดีแน่นอน!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้