รีวิวสายการบิน: สปริงแอร์ไลน์ Spring Airlines 2018

Last updated: 30 ก.ค. 2561  |  31619 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ช่วงเมษาที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ใช้บริการของสปริงแอร์ไลน์ (Spring Airlines) สายการบินโลว์คอสต์สัญชาติจีนที่มีเส้นทางค่อนข้างหลากหลาย เลยเอาข้อมูลมาแบ่งปันเผื่อเป็นทางเลือกให้เพื่อน ๆ ที่เดินทางไปจีนบ่อยจ้ะ

หมายเหตุ: รีวิวนี้ไม่มีสปอนเซอร์ใด ๆ ทั้งสิ้นนะจ๊ะ ซื้อตั๋วเองแพ็คกระเป๋าเองบินเองล้วน ๆ 

ทั่วไป
แน่นอนว่าเมืองปลายทางที่คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะได้ใช้บริการบ่อยสุดน่าจะเป็นเซี่ยงไฮ้กับกวางเจา แต่สำหรับเรา จุดเด่นของสปริงแอร์ไลน์คือเส้นทางบินไปเมืองรองที่เป็นจุดเที่ยวสำคัญ ๆ หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหนิงโปที่มีท่าเรือไปผู่ถัวซาน หนานชางไปอุทยานหลูซาน หลานโจวที่เป็นจุดสำคัญของเส้นทางสายไหม ฮาร์บินเมืองหิมะ หรือแม้แต่โฮฮ็อตของเขตมองโกเลียใน! โดยต้นทางนอกจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) แล้ว ก็ยังมีภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และกระบี่ด้วย อย่างไรก็ตาม เส้นทางเมืองรองไม่ได้มีไฟลท์บินทุกวัน แล้วก็อาจจะไม่ใช่บินตรงด้วย อันนี้ก็ต้องแพลนกันให้ดีนะจ๊ะ


ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Spring_Airlines#/media/File:Spring_Airlines_A320.JPG


ส่วนเรื่องเวลาบิน ขาออกส่วนใหญ่เวลาไม่สวยเท่าไหร่ อย่างเซี่ยงไฮ้กับหนานชางที่เราใช้บริการมา ขาออกจากไทยจะบินช่วงตีสองตีสามไปถึงตอนเช้าตรู่ ต้องเตรียมหาวิธีไปสุวรรณภูมิในช่วงดึกดื่น และแพลนของวันถัดไปก็ต้องคำนึงถึงสภาพสะโหลสะเหลของเราด้วย แต่ไฟลท์ขากลับถึงไทยช่วงบ่าย-เย็นสวย ๆ ก็พอมีอยู่



จองและซื้อตั๋ว
- ซื้อโดยตรงจากเว็บ http://th.ch.com และจ่ายเงินโดยตัดบัตรเครดิตเท่านั้น รู้สึกว่าเว็บไซต์ยังใช้งานไม่ค่อยลื่นเท่าไหร่ งงกับการโชว์ราคานิดหน่อย แต่ก็ซื้อตั๋วได้ไม่มีปัญหา ถ้ามีคำถาม โทรเข้า call center โลด เจ้าหน้าที่เป็นคนไทยพูดภาษาไทยได้จ้า 
- ราคานั้นสุดแต่บุญกรรมจะจิ้มได้ บางช่วงก็ถูก บางช่วงก็แพง ขึ้นอยู่กับเมืองที่ไปอีก เราไปเซี่ยงไฮ้ one-way (ขากลับบินกับสายการบินอื่นจากเมืองอื่น) รวมแล้วประหยัดกว่าซื้อตั๋วฟูลเซอร์วิสแบบ multi-city แต่ไปส่องราคาตั๋วเมืองไกล ๆ มา ราคาก็ชวนหนาวเหน็บอยู่

- ราคาที่โชว์ตอนเลือกไฟลท์ยังไม่ใช่ราคาสุดท้าย ต้องกดไปเรื่อย ๆ ให้รวมภาษีสนามบินและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ก่อน โปรดอย่าเพิ่งดีใจถ้าราคาแรกจะถูกจนชวนงง 
- ตั๋วแบ่งเป็น 3 แบบ: 
1. SpringSaver ราคาประหยัดสุด ได้โควต้าน้ำหนัก carry-on บวกสัมภาระโหลดรวมกัน 15 ก.ก. 
2. SpringFlexi โควต้าน้ำหนักเท่า Saver แต่เปลี่ยนแปลงและขอรีฟันด์ตั๋วได้
3. SpringPlus ราคาแพงโดดจากชาวบ้าน แต่ได้โควต้าน้ำหนักรวม 25 ก.ก. เปลี่ยนแปลงและขอรีฟันด์ตั๋วได้ มีอาหารและน้ำดื่ม ได้ที่นั่งโซนหน้า



- จะซื้อที่นั่งหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่เกี่ยงว่าต้องนั่งตรงไหนเป็นพิเศษหรือไม่อยากโดนอาเจ้อาเฮียประกบ ก็ไม่ต้องซื้อเลย ไปวัดดวงเอาตอนเช็คอิน จะประหยัดเงินได้อีกจ้า ส่วนใครที่คิดว่าซื้อดีกว่า ราคาก็ตามนี้: 

1. โซนด้านหน้าเครื่องเป็นพรีเมียมซีทที่ที่นั่งจะกว้างขึ้นอีกนิด ถ้าเลือกตั๋วแบบ Saver/Flexi จะต้องเพิ่มตังค์อีก 300-600 บาท 

2. ถัดลงมาอีกราวสิบแถวจะเป็น quiet zone ส่วนนี้ต้องเพิ่มเงิน 250 บาท ถามว่าเงียบจริงมั้ย พอดีเรานั่งไฟลท์ดึก ทุกคนเลยสลบหมด กลายเป็น quiet zone ทั้งลำไปโดยปริยาย ถ้าไม่อยากตกอยู่ในวงล้อมจอมยุทธ์ก็แนะนำจ้ะ แต่ข้อเสียคือไกลห้องน้ำท้ายลำ ไม่รู้ทำไมทั้งสามไฟลท์ที่เราใช้บริการถึงใช้ห้องน้ำด้านหน้าไม่ได้

3. เลือกที่นั่งถัดจากนั้นไปถึงท้ายลำเพิ่ม 200 บาท 


- เรื่องน้ำหนักกระเป๋าดูจะเป็นประเด็นมากสำหรับสายการบินนี้ ขอสรุปง่าย ๆ ว่า สมมุติซื้อตั๋วแบบ Saver/Flexi โดยไม่ซื้อน้ำหนักเพิ่ม เราจะได้โควต้าโหลดและถือขึ้นเครื่องรวมกัน 15 ก.ก. โดยสัมภาระที่โหลดไม่จำกัดจำนวนชิ้น ส่วนกระเป๋าถือขึ้นเครื่องจำกัดที่ 5 ก.ก. และขนาดไม่เกิน 30*20*40 ซ.ม.
- ถ้านั่ง Saver/Flexi จัดของที่จะโหลดให้ได้ 10 ก.ก. และกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง 5 ก.ก. แต่ถ้านั่ง Plus ก็จัดของโหลด 20 ก.ก. กระเป๋าถือขึ้นเครื่อง 5 ก.ก.
- สปริงแอร์ไลน์ซีเรียสเรื่องน้ำหนักและขนาดกระเป๋าถือขึ้นเครื่องมาก ถ้าไม่ซื้อน้ำหนักไป โดนจับชั่งแน่นอน และกระเป๋าถือขึ้นเครื่องที่ขนาดไม่ผ่านเกณฑ์หรือมีล้อยื่นล้ำออกมาเยอะไป ก็จะถูกอัญเชิญให้โหลดด้วย 


เช็คอินและโหลดกระเป๋า
- เช็คอินออนไลน์ได้ในเว็บไซต์ แต่ต้องไปเข้าแถวโหลดกระเป๋าอยู่ดี เพื่อนร่วมไฟลท์ส่วนใหญ่เป็นกรุ๊ปจีนอย่างไม่ต้องสงสัย
- ขาที่เราซื้อน้ำหนักเพิ่ม โดนชั่งแค่ใบที่โหลดใต้ท้องเครื่อง แต่ขาที่ไม่ได้ซื้อ เจ้าหน้าที่ขอชั่งทั้งใบโหลดและกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง แต่เราทำการบ้านไปดี ปิดจ๊อบที่ 14.8 ก.ก. ฮะฮิฮิ



ขึ้นเครื่อง
- สามลำที่เราได้นั่งเป็นรุ่นแอร์บัส A320-200 ที่นั่งแถวละ 3-3 เหมือนสายการบินโลว์คอสต์ทั่วไป 
- แน่นอนว่าปรับเบาะไม่ได้ และไม่มีเอนเตอร์เทนเมนต์ใด ๆ ขอให้เตรียมหนังสือไปอ่าน หรือถ้าไฟลต์ดึกก็พกผ้าปิดตากับหมอนรองคอไปหลับยาว ๆ


ดูทรงแล้ว ตำแหน่งถาดอาหารคงไม่ได้ออกแบบมาเพื่อฮอบบิทอย่างเรา

- มีห้องน้ำสองห้องตรงท้ายลำ ไฟลท์กลางวันต่อคิวโหดมากเพราะขึ้นเครื่องแป๊บ ๆ ก็กินข้าวเลย ผู้โดยสารเลยต้องใช้ห้องน้ำพร้อม ๆ กันเกือบทั้งลำ แต่ชอบที่พอผ่านไปสองสามคน แอร์จะเข้าไปพิสูจน์กลิ่นให้ก่อน 
- ขอน้ำกับน้ำร้อนได้ด้วย แต่ที่กดอยู่ใกล้ ๆ กับห้องน้ำ คนจะเบียดเสียดพอสมควร เห็นความดีของที่นั่งท้ายลำก็ตอนนี้ 
- เราซื้ออาหารล่วงหน้าไปตั้งแต่ตอนออกตั๋ว ขาออกจากไทยเจอข้าวพะแนงหมู อร่อยแบบอยากขอเบิ้ล แต่ขากลับเมนูจีนสะเทือนใจมาก แนะนำให้ลองดูของจริงหน้างานแล้วค่อยซื้อจะปลอดภัยกว่า
- หรือจะเหน็บเสบียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นไปกินก็ได้นะ เนื่องจากเป็นสายการบินจีนที่คนในชาติค่อนข้างทำอะไรตามใจ เราเห็นผู้โดยสารจีนเอาขนมปังผลไม้ขึ้นมากินบนเครื่อง เอาบะหมี่ถ้วยไปขอกดน้ำร้อน เอาชาซองไปชง แอร์ก็ช่วยกดน้ำร้อนให้แต่โดยดี 


ถ้าขาไปเลือกไฟลต์เช้ามืด แนะนำให้ซื้ออาหารซื้อน้ำและจัดการกินให้เรียบร้อยบนเครื่องเลย
ไม่งั้นอาจต้องไปเผชิญความหิวในแถวตม.จีนได้ 


สรุปแล้ว เราว่าสปริงแอร์เป็นตัวเลือกในกลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ที่โอเค ไม่ต่างกับเจ้าอื่นมาก ที่ต้องระวังก็มีแค่น้ำหนักกระเป๋าเดินทางในกรณีที่ไม่ได้ซื้อน้ำหนักไปเท่านั้นเอง ส่วนที่ชอบสุด ๆ คือมีเส้นทางเมืองรอง ๆ ถึงแม้จะไม่บินทุกวันก็ตาม และทั้งสามไฟลท์ที่เราใช้บริการก็ขึ้นลงตรงเวลาหมด ถ้าจิ้มได้ราคาถูกตลอดก็จะเยี่ยมไปเลยยย 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้